บ้านครูโน้ต - อบรมคอมพิวเตอร์สำหรับครู วิทยฐานะ สื่อการสอน นวัตกรรมการศึกษา
วิทยฐานะ, สื่อการสอน, ผลงานทางวิชาการ,ครูชำนาญการ,ครูชำนาญการพิเศษ,ครูเชี่ยวชาญ,ครูเชี่ยวชาญพิเศษ,เงินเดือน,เงินเดือนครู,แท่งเงินเดือน

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อยากได้ “ตั๋วครู” ต้องสอบขึ้นทะเบียน


อยากได้ “ตั๋วครู” ต้องสอบขึ้นทะเบียน คุรุสภาอนุมัติร่างข้อบังคับว่าด้วยใบอนุญาตฯ หวังดันเป็นวิชาชีพชั้นสูง

ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างข้อบังคับว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หลังจากที่มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างดังกล่าวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการจัดทำร่างข้อบังคับว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฉบับนี้จัดทำขึ้น เพราะต้องการพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรสายครูต่อไป เมื่อสำเร็จการศึกษาหากต้องการใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจะต้องมีการสอบขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไว้ก่อน แตกต่างจากปัจจุบัน เมื่อสภามหาวิทยาลัยอนุมัติว่าสำเร็จการศึกษา บัณฑิตก็สามารถนำหลักฐานมายื่น ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับทางคุรุสภาได้โดยที่ไม่มีการสอบใดๆ ทั้งนี้ จุดสำคัญของร่างข้อบังคับว่าด้วย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฉบับนี้ ในกรณีที่บัณฑิตสำเร็จการศึกษาเข้าสอบขึ้นทะเบียน เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว แต่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดนักศึกษาจะไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่จะได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนแทน ซึ่งผู้ที่ถือใบอนุญาตปฏิบัติการสอนนี้จะไม่มีสิทธิ์ที่จะไปสอบบรรจุเข้ารับราชการครู แต่สามารถไปทำหน้าที่เป็นครูสอนในโรงเรียนเอกชนได้

“หลังจากนี้คุรุสภาจะได้มีการเสนอร่างข้อบังคับฉบับนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการได้ พิจารณาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาและอย่างช้าก็น่าจะนำร่างข้อบังคับว่าด้วย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาใช้กับบัณฑิตที่มายื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2556 เพราะมีการกำหนดระยะเวลาในการบังคับใช้ไว้อย่างชัดเจน ในบทเฉพาะกาล และหากมีการเริ่มใช้เชื่อว่าคุณภาพบัณฑิตที่จะก้าวเข้ามาสู่วิชาชีพครู จะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากทั้งบัณฑิต อาจารย์ผู้สอนบัณฑิตและสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะหากยังนิ่งเฉยโอกาสที่จะก้าวเข้ามา เป็นครูก็จะน้อยลง นอกจากคนที่มีคุณภาพจริงๆ” ประธานคณะกรรมการคุรุสภากล่าว

ดร.ดิเรกกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้โรงเรียนเอกชนสามารถร่วมกับ สถาบันที่ผลิตครูเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ได้ตาม ที่สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เสนอเรื่องมา โดยมี ครูโรงเรียนเอกชนที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตร ป.บัณฑิต จำนวน 1,780 คน มีสถาบัน ร่วมผลิตจำนวน 30 แห่ง.

ที่มาของข่าว : http://www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น