บ้านครูโน้ต - อบรมคอมพิวเตอร์สำหรับครู วิทยฐานะ สื่อการสอน นวัตกรรมการศึกษา
วิทยฐานะ, สื่อการสอน, ผลงานทางวิชาการ,ครูชำนาญการ,ครูชำนาญการพิเศษ,ครูเชี่ยวชาญ,ครูเชี่ยวชาญพิเศษ,เงินเดือน,เงินเดือนครู,แท่งเงินเดือน

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คศ. 3 เรื่องเหลือเชื่อที่เป็นจริง

บันทึก ไม่ลับของครูสาร คศ. 3 เรื่องเหลือเชื่อที่เป็นจริง
ผู้เขียน นายประสาร ธาราพรรค์
การเขียนบันทึกเป็นเรื่องที่แทบทุกคนต้องเคยปฏิบัติอาจเป็นบันทึกสั้นๆ กันลืมหรือบันทึกเรื่องราวเป็นงานเป็นการ ซึ่งบันทึกทางวิชาการแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ บันทึกการฟัง บันทึกการอ่านและบันทึกจากประสบการณ์ตรง งานเขียนของผู้เขียนชิ้นนี้เป็นการเขียนบันทึกจากประสบการณ์ตรง เป็นเหตุการณ์ในอดีตเมื่อปี 2545 เมื่อแปดปีเก้าปีที่แล้ว ข้อมูลที่นำมาเขียนถูกฝังไว้ในจิตใต้สำนึกมานาน จะเก็บไว้ให้หายไปกับห้วงความคิดของตนเองก็เสียดายเลยคิดว่าอย่างน้อยน่าที่จะเผยแพร่ออกไปอาจจะทำให้ผู้อ่านบางท่านได้ข้อคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งนำไปใช้ ซึ่งงานเขียนของผู้เขียนที่ลงในเว็บไซต์ของวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรีได้รับการต้อนรับจากนักอ่านพอสมควรและมีหลายข้อเขียนที่ถูกดึงไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่หวงห้ามใด ๆทั้งสิ้นทั้งยังปลื้มใจดีใจเสียอีก สำหรับบทความเรื่องนี้ผู้เขียนใช้ชื่อเรื่องว่า “บันทึกไม่ลับของครูสาร คศ.3 เรื่องเหลือเชื่อที่เป็นจริง” เขียนเป็นที่ระลึกวันคล้ายวันเกิดของผู้เขียน อายุ ครบ 58 ปี ในเดือนกันยายน ปี 2553

ตามจริงเรื่องนี้ผู้เขียนสองจิตสองใจมานานพอสมควรจะเสนอผลงานเผยแพร่ดีหรือไม่แต่คิดว่าอาจเป็นแนวคิดทางหนึ่งของผู้ที่คิดอยากทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ แต่ไม่ได้ลงมือทำ อันเป็นเหตุทำให้ตนเองไม่ก้าวหน้าพัฒนาเท่าที่ควรทั้งที่มีความพร้อมมีความสามารถ ซึ่งหลายคนที่ไม่คิดจะทำผลงานฯคิดว่าตัวเอง ทำไปไม่รู้จะได้ไหมในสิ่งที่มุ่งหวัง หรือมีบทสรุปแห่งชีวิตง่าย ๆ ว่าฉันพอแล้วแค่นี้ไอ้วิทยฐานะทำไปปวด กบาล เปล่า แค่นี้ก็เพียงพอ แต่เรามองในมุมกลับ คือการทำผลงานการเลื่อนวิทยฐานะ ถ้าลองทำแบบสนุก ทำแบบถ้าได้ก็ถือว่าโชคดี ไม่ได้ก็แล้วไป มันจะไม่เครียด ไม่เป็นโรคประสาท ก็ลองทำดู เหมือนกับผู้เขียนที่ทำผลงานการเลื่อนวิทยฐานะ ทำเพราะอยากทำ ต้องการรวบรวมผลงานของตนให้สมบูรณ์ ทำเพราะท้าทายด้วยระยะเวลา ทำอย่างสนุก ความหวังในผลสำเร็จตั้งไว้ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันสำเร็จ....แฮะ...แฮะ... แจ็คพ็อตแตกครับ

ผู้เขียนมีประสบการณ์ในชีวิตแปลก ๆมากมายหลายเรื่องบางเรื่องแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริงและเรื่องของผู้เขียนเรื่องหนึ่งที่แปลกและบังเกิดผลลัพธ์อย่างคาดไม่ถึงซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นตำนานของชีวิตเรื่องหนึ่งในชีวิตของผู้เขียน เรื่องนั้นคือการทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะจาก ซี 7 เป็น ซี 8 หรือจาก คศ. 2 ครูชำนาญการ เป็น คศ.3 ครูชำนาญการพิเศษ ใช้เวลาในการจัดทำเพียง 10 วัน

การทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะจากครูชำนาญการ (คศ.2) เป็นครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3)ในความรู้สึกของครูส่วนใหญ่เป็นเรื่องเหมือนไกลเกินฝัน ทำยาก ลำบาก ไม่รู้จะทำอย่างไร จะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง จะเริ่มต้นอย่างไรก่อน จะให้ใครช่วยเหลือแนะนำ คนอย่างเราจะทำได้หรือ ทำแล้วจะผ่านหรือเปล่า จะหมดเงินอีกเท่าไรในการทำเพราะการทำผลงานการเลื่อนวิทยฐานะจากครูชำนาญการเป็นครูชำนาญการพิเศษเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนทั้งกำลังกายใจความคิดและทรัพย์ทำแล้วใช่จะผ่านง่ายๆ ไม่ผ่านมีมากมาย ผู้เขียนบันทึกก็เป็นหนึ่งของครูที่ไม่ได้ทำผลงานการเลื่อนวิทยฐานะเพราะคิดแบบข้างต้นเหมือนกัน


ประมาณต้นปี พ.ศ. 2545 ผู้เขียนไปหาซื้อของ ดูของเก่า ที่บริเวณร้านค้าแถวคลองหลอดหลังกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ ซึ่งนักนิยมของเก่าจะเรียกร้านค้าแถบนี้ว่าย่านหลังกระทรวง ผู้เขียนเดินดูไปเรื่อยเปื่อยพอดีเมื่อยขาจะหาที่นั่งพัก บริเวณแถวนั้นมีหมอดูนั่งทำนายทายทักดวงชะตาอยู่ 1 คน หมอดูชวนผู้เขียนดูดวง ซึ่งวันนั้นผู้เขียนแต่งตัวแบบกระจอกสุดขีดคือกางเกง
ขาสั้นเสื้อยืดแถมรองเท้าที่ใส่ก็ใกล้ขาด กำลังจะหาซื้อรองเท้าใหม่ใส่ หมอดูมาชวนดูก็เลยดูตามใจหมอ ไม่ได้คิดตั้งใจดูเพียงดูเอาสนุกฆ่าเวลาเท่านั้น ขณะนั้นผู้เขียนมีเงินอยู่ในกำมือ 30 บาท เลยบอกหมอดูว่ามีเงินแค่ 30 บาท ดูได้ไหม หมอดูตอบตกลงเพราะกำลังว่างอยู่ไม่มีอะไรทำ หมอดูเป็นชายสูงอายุเป็นหมอดูประเภทดูลายมือ และให้ผู้เขียนแบมือทั้ง 2 ข้างเพื่อดูลายมือ เมื่อหมอดูพิจารณาสักครู่ก็บอกกับผู้เขียนซึ่งคำทำนายที่บอกที่ทำให้ผู้เขียนอึ้งทึ่งและประหลาดใจในคำทำนาย คือ “คุณมีผลงานระดับชาติ” ซึ่งตรงกับชีวิตผู้เขียนที่สุด คือ ผู้เขียนได้รับรางวัลระดับชาติมามากมาย อาทิ คำขวัญชนะเลิศระดับชาติ “ขายเสียง ขายสิทธิ์ เหมือนขายชีวิต ขายชาติ” รองชนะเลิศการประกวดสื่อระดับชาติ บทความทั้งชนะเลิศและรองชนะเลิศระดับชาติ ฯลฯ คำทำนายครั้งแรกถูกใจผู้เขียนก็เลยชักเงินเพิ่มให้อีก 40 บาท ตามประสาคนขี้เหนียว ผู้เขียนถามหมอดูว่าและการงานในหน้าที่เป็นอย่างไร หมอดูบอกว่า คุณจะเจริญในหน้าที่การงานได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่หลังจากเลยวันเกิดปีนี้ คือ25 กันยายน 2545 ผู้เขียนก็รู้สึกขำในใจเราจะเอาอะไรมาเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ได้ จะไปเป็นผู้บริหารก็ไม่เคยคิด ทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะก็ไม่อยู่ในสมอง เลยคิดว่าหมอดูคงดูเรื่อยไปไม่แม่นเสียแล้ว ผู้เขียนเลยคุยไปเรื่อยเปื่อยไม่สนใจ และลืมคำทำนายของหมอดูหลังกระทรวงไปเลย ตอนหลังจะไปหาดูก็ไม่เจอเสียแล้ว

ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งผู้เขียนมีอายุครบ 50 ปี ในเดือนกันยายน ในช่วงใกล้วันเกิดมีความรู้สึกว่าน่าที่จะทำอะไรให้เป็นที่ระลึกเป็นอนุสรณ์เป็นความจดจำ ได้แต่คิดยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำอะไรดี และพอดีกับครูจิ้ม(ครูนภาฤทัย พิทักษ์ระโนด) ขอความอนุเคราะห์ให้ตรวจผลงานในการเลื่อนวิทยฐานะจากครู เป็นครูชำนาญการ (คศ.2) ซึ่งเป็นรูปแบบในการจัดทำแบบใหม่ ผู้เขียนซึ่งมีอาชีพหลักรับช่วยเหลือเพื่อน ๆ ในการตรวจคำ ข้อความ การตัดคำ การเขียนงานใช้คำในงานวิชาการซึ่งใครก็ตามมาขอความช่วยเหลือในการทำผลงานทางวิชาการหรืองานเขียนก็จะถือเป็นหน้าที่ต้องทำต้องช่วยเหลือโดยตลอดมา เมื่อได้มีโอกาสตรวจผลงานของครูจิ้มในรูปแบบใหม่ในการเลื่อนวิทยฐานะ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าไอ้รูปแบบใหม่ในการจัดทำผลงานมันไม่ได้ยากอย่างที่คิด สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบเอกสารเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะเมื่อนำมาตรวจสอบก็แทบจะมีครบเกือบทั้งหมดเหลือเพียงปรับปรุงเพิ่มเติมให้สอดคล้องถูกต้อง ดังนั้นคำตอบในการที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ตนเองมีอายุครบ 50 ปี คือจัดทำผลงานการเลื่อนวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษนั่นเอง ถึงแม้จะมีเวลาในการจัดทำไม่เกิน 10 วันตามที่ตั้งใจกำหนดวันไว้ ซึ่งเมื่อผู้เขียนลงมือจัดทำเอกสารเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ครูจิ้มก็ให้ความช่วยเหลือในการช่วยจัดทำจนเสร็จสิ้นและส่งผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะวันเดียวกัน คือวันที่ 25 กันยายน 2545


เมื่อคิดจะลงมือทำก็ยังได้กำลังใจจาก ลูกพี่ คือครูมา (ครูมาลินี ช่างพาน) ผู้คอยให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือในการจัดทำ ครูมา ผู้เขียนจะเรียกขานแทนตัวท่านว่าลูกพี่ เพราะ ท่านเป็นผู้ที่เป็นแบบอย่างในการทำงานและประพฤติตนเป็นครูที่อุทิศตนเพื่อการสอนสอนง่ายเข้าใจง่ายซึ่งวิชาบัญชีเป็นเรื่องที่สอนแล้วเข้าใจได้ยากแต่ครูมาลินีสอนให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งยังติดตามช่วยเหลือแก้ไขนักเรียนนักศึกษาที่มีปัญหาทั้งความประพฤติการเรียนและยังช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาที่ขาดแคลนโดยเสมอมา และประการสำคัญคือเป็นผู้อุทิศตนทั้งกำลังกายใจเวลาและบางครั้งกำลังทรัพย์ให้กับสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยเสมอมา ด้วยความดีของครูมาที่ผู้เขียนประทับใจจึงยกย่องให้เกียรติเรียกขานท่านว่า “ลูกพี่” มาตลอด (ในความคิดของข้าพเจ้า ครูมา คือแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่งของวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี และขอเอ่ยนามครูอีกท่านหนึ่งที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์เพื่อสถานศึกษาซึ่งผู้เขียนประทับใจท่านผู้นี้อย่างมากและเนิ่นนาน คือ ครูลุ (ครูบรรลุ บุญเลิศ) ผู้เพียรพยายามพัฒนาภูมิทัศน์ ภาพลักษณ์ของอาคารสถานที่ ให้งดงามน่าชื่นชมอย่างสม่ำเสมอ จะคอยดูแล กำกับในการจัดสถานที่ จัดสวน ปลูกต้นไม้ ให้วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี น่ารื่นรมย์ น่าดู ซึ่งท่านกระทำอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาเป็นสิบสิบปีและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในสิ่งที่ท่านทำ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรีโชคดีอย่างยิ่งที่บุคลากรทุกระดับทั้งผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่ของสถานศึกษาแทบทุกท่านเป็นผู้ที่กระทำตนเสียสละเพื่อสถานศึกษาโดยมุ่งหวังให้สถานศึกษามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคมภายนอกโดยทั่วไป)

ยังมีบุคคลอีกบุคคลที่ช่วยสนับสนุนในการจัดทำผลงานทางวิชาการคือ ครูจุ๊ย (ครูพิสุทธิ์ ศิริสุขไพบูลย์) ซึ่งเป็นแนวหน้าในการจัดทำผลงานในการเลื่อนวิทยฐานะรูปแบบใหม่ซึ่งในวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรียังไม่เคยมีใครจัดทำมีครูจุ๊ย เป็นคนแรกที่ลงมือทำ ครูจุ๊ย ให้ความช่วยเหลือแนะนำในด้านข้อมูลและแบบฟอร์มรูปแบบต่างๆ ทำให้ผู้เขียนสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก

ผู้เขียนมีเวลาเพียง 10 วัน ในการจัดทำผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะจาก ซี 7 เป็น ซี 8 หรือจาก คศ.2 เป็น คศ. 3 นั่นเอง และกำหนดส่งผลงานในวันเกิด คือวันที่ 25 กันยายน 2545 ในการจัดทำฯ ผู้เขียนวางแผนการจัดทำ มีอะไรบ้างที่ต้องทำ เอกสาร เนื้อหา ข้อมูลที่เรามี มีอะไรบ้าง มีอะไรที่ต้องทำเพิ่ม จะขอร้องให้ใครช่วยทำอะไรผู้เขียนโชคดีอีกอย่างคือ พี่สาวของผู้เขียนคือ ครูอรวรรณ ธาราพรรค์ ก็ทำผลงานได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการพิเศษ ผู้เขียนก็อาศัยแนวทางผลงานของพี่สาวมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินการ

เนื่องจากระยะเวลาในการจัดทำที่ผู้เขียนกำหนดไว้เพียง 10 วัน สั้นมาก และผู้เขียนเองก็คิดเพียงทำเอามันเอาสนุกเป็นผลงานที่เพียงให้ได้ทำ ความหวังที่จะได้รับการเลื่อนวิทยฐานะมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แผนการสอนก็เอาที่ทำจริง สอนจริง ที่ส่งให้ฝ่ายวิชาการตรวจ เพิ่มเติมเพียงแบบทดสอบก่อนสอน หลังสอน และวิเคราะห์ข้อสอบปลายภาคเรียน ปรับปรุงสื่อการสอนที่ส่งประกวดได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับชาติ ให้ทันยุคสมัยสอดคล้องกับแผนการสอน รวบรวมผลงานสารพัดสารพันได้เป็นร้อยหน้า ซึ่งผลงานมีมากมายเนื่องจากหากมีการประกวดผลงานผู้เขียนจะส่งผลงานเข้าประกวดมาอย่างต่อเนื่องร่วม 20 ปี ส่งทั้งตัวเองและของผู้เรียน อาทิได้รับการคัดเลือกเป็นครูผู้ปฏิบัติงานมีผลงานดีเด่นของกรมอาชีวศึกษาภาคตะวันออกและภาคกลาง ครูภาษาไทยดีเด่น อีกทั้งได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ง่ายต่อการจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะมีข้อมูลเกินพอที่นำไปใช้ อีกทั้งผู้เขียนมีประสบการณ์มีความชำนาญในการจัดทำเอกสารเข้าประกวดในหลากหลายรูปแบบ ทั้งยังได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารเพื่อนร่วมงานในการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการรับผิดชอบงานต่าง ๆของสถานศึกษาจำนวนมาก ทำให้มีคำสั่งของสถานศึกษานำมาเขียนเอกสารประกอบการจัดทำสะดวกง่ายดาย และเอกสารต่างๆ และคำสั่งที่ได้รับมอบหมายได้จัดทำแยกเป็นสัดส่วนเป็นรูปเล่มให้ดูง่ายสะดวกในการตรวจพิจารณา ในการจัดทำเอกสารผลงานผู้เขียนใช้เวลาในการจัดทำวัน ๆไม่กี่ชั่วโมง สองทุ่ม สามทุ่มก็นอนแล้ว
ผู้เขียนโชคดีที่มีน้อง ๆ เพื่อน ๆ ให้ความช่วยเหลือในการจัดทำผลงานอาทิ ครูจุ๊ย ครูมา ครูจิ้ม ครูชิต ครูหวัง ฐา ก้อย อ้อย เหมี่ยว ประวิตร ปุ๊ย แป๋ว เก๋ ดวงมณี แจ๊ด และในคืนวันก่อนส่ง มีคนที่มาช่วยกันตรวจทาน ดูรายละเอียด จัดใส่กล่อง ให้กำลังใจเป็น สิบคน ต้องขอขอบคุณทุกคนไว้ ณ โอกาสนี้
ผลงานที่ผู้เขียนเมื่อรวบรวมจัดทำเสร็จ 1 ชุด แทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีปริมาณกระดาษที่ใช้เกือบ 1 กล่องกระดาษถ่ายเอกสาร และถ่ายสำเนาจัดทำเป็นรูปเล่มต่างๆ เพื่อส่งอีก 4 ชุด พอถึงวันที่ 25 กันยายน 2545 ผู้เขียนกับเพื่อนครูที่จะส่งผลงานวิชาการก็เดินทางไปส่งผลงานทางวิชาการที่กรมอาชีวศึกษาสมดังตั้งใจที่ทำได้ ที่ได้ทำ ก็เท่านั้นเอง และต่อมาก็มีคำสั่งเลื่อนวิทยฐานะจากซี 7 เป็น ซี 8 หรือปัจจุบัน คือเลื่อนวิทยฐานะครูชำนาญการเป็นครูชำนาญพิเศษ โดยให้ผู้เขียนดำรงวิทยฐานะตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2545 เป็นต้นไป ซึ่งนับเป็นของขวัญวันเกิดอันทรงคุณค่าที่ผู้เขียนได้รับมอบจากกรมอาชีวศึกษา เมื่ออายุครบ 50ปี และอีก 6 ปี ในปี 2551 เงินเดือนผู้เขียนก็ตันไปเรียบร้อย อย่างนี้ต้องเรียกว่า “คศ. 3 เรื่องเหลือเชื่อที่เป็นจริง” ใช่ไหมครับ


เมื่อผู้เขียนคิดย้อนไปถึงคำทำนายของหมอดูหลังกระทรวง ซึ่งตอนแรกไม่ได้เชื่อถือเท่าไรในคำทำนายเรื่องการงาน แต่เมื่อผลออกมาตามคำทำนาย (หมอจ๋าจะดูได้แม่นอะไรปานนั้นวะ) คราวหลังผู้เขียนไปหาหมอดูคนนี้ที่หลังกระทรวงก็ไม่รู้ว่าแกไปตั้งโต๊ะอยู่ที่ไหนแล้ว

การทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะผู้จัดทำบางคนดูมันง่ายสะดวกสบายดีเหลือเกินผ่านง่าย ๆ ไม่น่าผ่านก็ยังผ่าน บางคนยากลำบากกว่าจะตรวจผ่านทำผ่านได้ก็ยากแค้นแสนสาหัส บางคนเมื่อไม่ผ่านการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะถึงขนาดลาออกจากราชการไปก็มี ผู้เขียนมีประสบการณ์และศึกษาการจัดทำผลงานทางวิชาการ ทั้งมีหน้าที่ไปตรวจผลงานของผู้อื่น ทั้งช่วยตรวจช่วยแก้ผลงานของเพื่อนครู ขอสรุปหัวใจในการทำผลงานการเลื่อนวิทยฐานะไม่มีอะไรมาก ไม่มีอะไรยาก หัวใจมีอย่างเดียว คือ ลงมือทำ แค่เพียงคุณเริ่มลงมือทำ เปิดประตูสู่ความก้าวหน้าให้กับตัวเองไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไร เพื่อน ๆ ในสถานศึกษาของท่านที่ได้รับการเลื่อนวิทยฐานะจากครูชำนาญการเป็นครูชำนาญการพิเศษแต่ละสถานศึกษามีจำนวนไม่น้อย สอบถาม ขอดูผลงานที่เพื่อนจัดทำและประสบผลสำเร็จมาเป็นแบบอย่าง อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือ เพียงคุณตั้งใจทำ ไม่ท้อแท้ท้อถอย โอกาสความก้าวหน้าจะเป็นของคุณ อย่างแน่นอน คศ. 3 หรือ แม้แต่ คศ.4 หรืองานอื่น ๆ ที่คุณคิดจะทำ ย่อมไม่เกินความสามารถของคุณและเรื่องเหลือเชื่ออาจจะเกิดกับคุณในความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือในชีวิต เพียงแต่คุณ ลงมือทำ และขออวยพรให้ผู้ส่งผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะทุกท่านประสบผลสำเร็จตามที่ต้องการทุกประการ สวัสดีครับ

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

วันนี้ขออนุญาตนำหนังสือของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 
เกี่ยวกับ แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 
มาฝากคุณครูทุกท่าน ดังนี้

แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบพัฒนากระบวนการคิด
ด้วยการใช้คำถามหมวกความคิด 6 ใบ
 
แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา
 
แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน
 
แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้
 
แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
 
แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน
 
แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบประสบการณ์และเน้นที่การปฏิบัติ
 
แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่พหุปัญญา
 
แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้
 

ขอขอบคุณหนังสือดีๆ จาก 
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)