บ้านครูโน้ต - อบรมคอมพิวเตอร์สำหรับครู วิทยฐานะ สื่อการสอน นวัตกรรมการศึกษา
วิทยฐานะ, สื่อการสอน, ผลงานทางวิชาการ,ครูชำนาญการ,ครูชำนาญการพิเศษ,ครูเชี่ยวชาญ,ครูเชี่ยวชาญพิเศษ,เงินเดือน,เงินเดือนครู,แท่งเงินเดือน

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อยากได้ “ตั๋วครู” ต้องสอบขึ้นทะเบียน


อยากได้ “ตั๋วครู” ต้องสอบขึ้นทะเบียน คุรุสภาอนุมัติร่างข้อบังคับว่าด้วยใบอนุญาตฯ หวังดันเป็นวิชาชีพชั้นสูง

ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างข้อบังคับว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หลังจากที่มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างดังกล่าวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการจัดทำร่างข้อบังคับว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฉบับนี้จัดทำขึ้น เพราะต้องการพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรสายครูต่อไป เมื่อสำเร็จการศึกษาหากต้องการใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจะต้องมีการสอบขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไว้ก่อน แตกต่างจากปัจจุบัน เมื่อสภามหาวิทยาลัยอนุมัติว่าสำเร็จการศึกษา บัณฑิตก็สามารถนำหลักฐานมายื่น ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับทางคุรุสภาได้โดยที่ไม่มีการสอบใดๆ ทั้งนี้ จุดสำคัญของร่างข้อบังคับว่าด้วย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฉบับนี้ ในกรณีที่บัณฑิตสำเร็จการศึกษาเข้าสอบขึ้นทะเบียน เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว แต่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดนักศึกษาจะไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่จะได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนแทน ซึ่งผู้ที่ถือใบอนุญาตปฏิบัติการสอนนี้จะไม่มีสิทธิ์ที่จะไปสอบบรรจุเข้ารับราชการครู แต่สามารถไปทำหน้าที่เป็นครูสอนในโรงเรียนเอกชนได้

“หลังจากนี้คุรุสภาจะได้มีการเสนอร่างข้อบังคับฉบับนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการได้ พิจารณาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาและอย่างช้าก็น่าจะนำร่างข้อบังคับว่าด้วย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาใช้กับบัณฑิตที่มายื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2556 เพราะมีการกำหนดระยะเวลาในการบังคับใช้ไว้อย่างชัดเจน ในบทเฉพาะกาล และหากมีการเริ่มใช้เชื่อว่าคุณภาพบัณฑิตที่จะก้าวเข้ามาสู่วิชาชีพครู จะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากทั้งบัณฑิต อาจารย์ผู้สอนบัณฑิตและสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะหากยังนิ่งเฉยโอกาสที่จะก้าวเข้ามา เป็นครูก็จะน้อยลง นอกจากคนที่มีคุณภาพจริงๆ” ประธานคณะกรรมการคุรุสภากล่าว

ดร.ดิเรกกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้โรงเรียนเอกชนสามารถร่วมกับ สถาบันที่ผลิตครูเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ได้ตาม ที่สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เสนอเรื่องมา โดยมี ครูโรงเรียนเอกชนที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตร ป.บัณฑิต จำนวน 1,780 คน มีสถาบัน ร่วมผลิตจำนวน 30 แห่ง.

ที่มาของข่าว : http://www.thairath.co.th

ถึงเวลาสกสค.ปฏิรูปสวัสดิการเพื่อครู

ไม่ว่าหน่วยงานหรือองค์กรใดก็ตามเรื่องของสวัสดิการและสวัสดิภาพบุคลากรถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะบำรุงขวัญบุคลากรในหน่วยงานนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลเกี่ยวกับสวัสดิการและสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ทั้งเรื่องของรายได้ ปัญหาหนี้สิน ที่พัก ความเป็นอยู่อย่างการจัดให้บริการหอพักครู นั่นหมายถึงครูและบุคลากรทางการศึกษานับล้านคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้

เมื่อหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสวัสดิการและสวัสดิภาพครูทำงานและให้บริการที่ดีแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาย่อมได้รับการชื่นชมยินดี แต่ที่ผ่านมาถึงแม้ สกสค.จะต้องทำงานอย่างหนักเกี่ยวกับสารพัดปัญหาของครูและบุคลากร และผลงานที่ออกมาก็ได้รับทั้งคำชมและคำตำหนิ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก เรื่องนี้ทาง สกสค.เองก็ยอมรับและพยายามแก้ไขจุดบกพร่องด้วยตั้งใจให้ครูได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำงานของ สกสค.

ที่ว่ามาคือความมุ่งมั่นของ สกสค. ที่จะทำงานเพื่อครู จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปศึกษาดูงานด้านสวัสดิการและสวัสดิภาพครูของประเทศในยุโรปที่สหพันธรัฐเยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
เรื่องของอาชีพครูในเยอรมนี เท่าที่ฟังจาก นายเคล้าส์ เบรคเทอร์ นายกเทศมนตรีเมืองบาดวิมพ์เฟน ซึ่งเป็นเมืองเก่าแห่งหนึ่งของเยอรมนี ทราบว่า เป็นอาชีพที่มีปัญหาค่อนข้างน้อย โดยเป็นอาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีมาก เป็นข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่มีรายได้ค่อนข้างสูงรองจากหมอ ครูประถมจะมีเงินเดือนประมาณ 2,000 ยูโร หรือ เกือบ 1 แสนบาท และถ้าเป็นระดับมหาวิทยาลัยก็มากขึ้น ส่วนสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล รัฐจะช่วยจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ถ้ามีลูกก็จะได้เพิ่มเป็น 70% ส่วนเรื่องหนี้สินต้องบอกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่โดยภาพรวมครูเขาจะไม่มีปัญหามากมายเหมือนบ้านเรา เพราะเขาบอกว่าเงินเดือนที่เขาได้รับถ้าใช้จ่ายและกินอยู่อย่างปกติธรรมดาไม่เดือดร้อนเลย

สำหรับเรื่องงานโรงแรมและการบริการได้ไปเห็นที่ IMI หรือ International Hotel Management Institute Switzerland ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนที่สอนด้านการโรงแรมที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ IMI ตั้งอยู่ที่เมืองลูเซิร์น ซึ่งเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเมืองแห่งการศึกษา มีสถาบันการศึกษามากมาย และมีนักศึกษาจากทั่วโลกเข้ามาอยู่ที่เมืองนี้เป็นจำนวนมาก สถาบัน IMI ถือว่าเป็นสถาบันที่จัดการเรียนการสอนด้านการโรงแรมและบริการเป็นอันดับ 1 ของโลก มีนักศึกษาจบออกไปแล้วประมาณ 5,000 คน โดย 74% ของนักศึกษาที่จบออกไปจะได้รับการโปรโมตเป็นระดับผู้บริหารภายในเวลา 5 ปี ซึ่งเขารู้สึกภูมิใจมากกับความสำเร็จนั้น สำหรับค่าเทอมต้องยอมรับว่าแพงมาก ๆ เพราะเฉลี่ยแล้วตกประมาณภาคเรียนละ 1 ล้านบาท ปีหนึ่งมี 3 ภาคเรียน (ไม่อยากจะคิดว่าเรียนจบแล้วเป็นเงินเท่าไหร่) ปัจจุบันที่ IMI มีนักศึกษาอยู่ประมาณ 500 คน จาก 78 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้มีนักเรียนไทย 6 คน

อภิชญา คมสัน หรือ น้องพีช วัย 20 ปี เด็กไทยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนด้านการโรงแรมที่ IMI เล่าว่า อาชีพบริการเป็นงานที่หนักมาก การมาเรียนที่นี่ต้องลงมือทำทุกอย่าง ค่าเทอมแพงแต่ไม่ได้อยู่อย่างสุขสบายแต่ก็มีความสุข เชื่อว่าสาขาที่เลือกเรียนยังไปได้อีกไกลเพราะงานโรงแรมและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ยังต้องมีต่อไปเพียงแต่เราต้องสู้กันด้วยแนวคิดใหม่ ๆ และการบริการที่ดี สำหรับประเทศไทยคิดว่าถ้ามีสถาบันที่จัดการเรียนการสอนด้านการบริการอย่างจริงจังได้ก็น่าจะดี เพราะเรื่องนี้เป็นเสน่ห์ของการทำธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้

ภายหลังการเดินทาง นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการ สกสค. ระบุว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้พอจะเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนในเรื่องของรายได้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาของไทยกับประเทศในยุโรป เพราะอาชีพครูในยุโรปจะมีรายได้ค่อนข้างสูง อีกทั้งเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีรองจากอาชีพแพทย์ โดยรัฐจะเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็มีสหภาพครูที่เข้ามามีบทบาทในการต่อรองเงินเดือนและสวัสดิการให้ครู ทำให้มีความมั่นคงในอาชีพได้รับการยอมรับของสังคม ที่สำคัญไม่มีปัญหาหนี้สิน เนื่องจากมีรายได้ที่สูงพอ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องนำกลับมาคิด
“ผมมองว่าการแก้ปัญหาหนี้สินที่ถูกทาง คือ แก้ที่จุดเริ่มต้น รายได้ครูต้องมีมากกว่ารายจ่าย ซึ่งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคุรุสภา สกสค. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รวมถึงองค์กรครูต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางที่จะทำให้ครูมีรายได้มากกว่ารายจ่าย และ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการศึกษาดูงาน คือแนวคิดของคนในยุโรปที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงเรื่องการใช้จ่ายอย่างมีวินัยซึ่งทำให้ไม่เป็นหนี้ ฉะนั้นผมคิดว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องกลับมาส่งเสริมเรื่องการพึ่งพาตนเองและความมีวินัยของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างจริงจัง”

ส่วนเรื่องของ หอพักครู ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งของ สกสค.ที่จัดให้บริการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น นายบำเหน็จ มองว่า ปัจจุบัน สกสค.ยังทำได้ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร การได้มาเห็นกิจการโรงแรมของคนไทยที่อยู่ในเยอรมนีทำให้เห็นแนวคิดว่า การที่เจ้าของโรงแรมที่เป็นคนไทยธรรมดาไม่มีพื้นฐานการจัดการ อย่าง พี่แพม สมพงษ์ แพม ไพเคิล ซึ่งเป็นชาวศรีสะเกษ แต่สามารถบริหารกิจการในต่างประเทศได้เป็นอย่างดีและประสบความสำเร็จ ขณะที่ สกสค.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำเกี่ยวกับสวัสดิการโรงแรมที่พักให้กับครูมายาวนานแต่กลับทำได้ไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องการบริการและความสะอาดที่ สกสค.ต้องกลับมาปรับปรุงเป็นการใหญ่ โดยรวมถึงการตกแต่งภายในห้องพักที่จะต้องทำให้ดีขึ้นด้วย เนื่องจาก สกสค.มีแนวคิดที่จะพัฒนาและขยายกิจการหอพักครู หรือ โรงแรมไป 4 ภูมิภาค เพราะฉะนั้นเราจึงต้องทำให้ได้อย่างมืออาชีพ

“เรื่องจิตบริการของพนักงาน ความสะอาด และการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าของผู้บริหาร รวมถึงการตกแต่งภายในให้ดูสวยงามน่าพัก และมีความเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะแนวคิดการนำวัสดุตกแต่งที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างคราด พลั่ว คันไถ หรือวัสดุที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่ดูดี และมีความสวยงาม ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและผมจะนำกลับมาปรับปรุงงานของ สกสค.ให้ดีขึ้น” รองเลขาธิการ สกสค.ย้ำ
จากการดูงานครั้งนี้ยังได้ทำให้เห็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะนำกลับมาปรับใช้กับบ้านเรา คือ ประเทศในยุโรปรัฐบาลเขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา รัฐจะสนับสนุนให้เรียนถึงระดับหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการศึกษาพื้นฐานอย่างเต็มที่ แต่เมื่อถึงระดับมหาวิทยาลัยก็จะเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน อย่างที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยรัฐจะมีกองทุนให้กู้ยืมเรียนโดยไม่คิดดอกเบี้ยจนกว่าจะมีงานทำจึงทำให้มีคนจบการศึกษาระดับปริญญาไม่มากนัก เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนจบขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ก็จะหางานทำกัน ที่เป็นอย่างนี้เพราะเขามีนโยบายในการสอนคนที่ความชัดเจนว่า จะมีชีวิตที่ดีขึ้นถ้าทำงาน ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ เด็กสวิตเซอร์แลนด์บางคนไม่มีเงินจะเรียนก็ต้องดิ้นรนขวนขวายด้วยตัวเอง ไม่รอแต่ให้คนอื่นยื่นมือเข้ามาช่วย...น่าสนใจจริง ๆ.

อรนุช วานิชทวีวัฒน์

ที่มาของข่าว : http://www.dailynews.co.th/

จี้ศธ.โละประเมินวิทยฐานะแบบเก่า


ตามที่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องดูจากผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นสำคัญนั้น รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเห็นด้วย เพราะจะทำให้การศึกษาลงสู่ห้องเรียน และส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็กให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง ในขณะที่ผ่านมาการขอเลื่อนวิทยฐานะจะเน้นการทำผลงานวิจัย เป็นเอกสาร ตำรา คล้ายกับการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย จนเกิดปัญหาการจ้างทำผลงาน หรือคัดลอกผลงานผู้อื่น รวมถึงปัญหาการทิ้งชั้นเรียน การมุ่งเป็นนักล่ารางวัล เพื่อมุ่งขอเลื่อนวิทยฐานะจนเกิดผลกระทบกับเด็ก และที่ผ่านมานักวิชาการ นักการศึกษา ต่างก็ออกมายอมรับแล้วว่าการเลื่อนวิทยฐานะโดยวิธีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ เกิดผลเสีย และที่ร้ายที่สุดเป็นการทำลายระบบการศึกษาของประเทศ ในขณะที่ผู้ปกครองก็ออกมาย้ำว่าเป็นเรื่องจริงที่การเรียนของลูกหลานไม่มีคุณภาพ รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา รมว.ศธ.ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เรื่องตั้งอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเฉพาะกิจจัดทำร่างหลักเกณฑ์วิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้อีกครั้ง แต่ตนไม่เห็นด้วยอย่างมาก เพราะในเมื่อก็รู้อยู่แล้วว่าการเลื่อนวิทยฐานะดังกล่าวมีแต่ปัญหา จึงไม่จำเป็นจะต้องไปศึกษาอะไรกันอีกแล้ว เพราะเราเสียเวลาไปมากกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้นตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ รมว.ศธ.จะต้องใช้ความกล้าทางการเมืองในการประกาศยกเลิกการเลื่อนวิทยฐานะของครูและบุคลาการทางการศึกษาแบบเดิม ๆ ได้แล้ว และทบทวนสิ่งที่ทำไปทั้งหมด พร้อมทั้งเร่งการประเมินผลการเลื่อนวิทยฐานะด้วยการพิจารณาจากผลงานเชิงประจักษ์ตามที่ประกาศไว้.

ที่มาของข่าว: http://www.dailynews.co.th