บ้านครูโน้ต - อบรมคอมพิวเตอร์สำหรับครู วิทยฐานะ สื่อการสอน นวัตกรรมการศึกษา
วิทยฐานะ, สื่อการสอน, ผลงานทางวิชาการ,ครูชำนาญการ,ครูชำนาญการพิเศษ,ครูเชี่ยวชาญ,ครูเชี่ยวชาญพิเศษ,เงินเดือน,เงินเดือนครู,แท่งเงินเดือน

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

รมว.ศธ.มอบนโยบายการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๕ ที่หอประชุมคุรุสภา



รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบายการศึกษาคือกุญแจสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยขจัดความยากจน โดยนโยบายของ ศธ.ต่อจากนี้ไปจะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดูแลครูอาจารย์เสมือนคนในครอบครัว ดูแลนักเรียนเหมือนลูกหลาน โดยจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน และจะจัดให้ดีกว่าในอดีต จะต้องไม่มีการคอร์รัปชั่น ไม่โกงนักเรียน ไม่บังคับขู่เข็ญครูอาจารย์ ต้องไม่เกณฑ์ครูและนักเรียนไปต้อนรับผู้ใหญ่โดยไม่จำเป็น ต้องไม่ปล่อยให้ยาเสพติดแพร่ระบาดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา นอกจากนี้ ขอฝากผู้บริหาร ศธ.ให้ช่วยลดกฎระเบียบและงานนอกเหนือจากการสอนของครู เพื่อขจัดการเรียกร้องเงินครูในการโยกย้ายตำแหน่ง รวมทั้งโครงการครูคืนถิ่น ขอให้มีกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบคะแนนได้ และให้ลดการใช้ดุลยพินิจ

รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงจุดเน้นนโยบายการพัฒนาการศึกษาอย่างเท่าเทียมและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษา ดังนี้


  • จัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชนทุกคน ซึ่งเยาวชนหมายถึง เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท จัดโดยรัฐหรือเอกชน การศึกษาในระดับโรงเรียนควรจะมีความรู้ในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เด็กมีกรอบคิด มีวิธีคิดที่กว้างขวาง จินตนาการ พร้อมที่จะเผชิญกับโลกสมัยใหม่ และเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๐๑๕ โดยเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ ๓๐๐ บาทต่อคนต่อวัน
  • ปั้นนักศึกษาไทยให้เป็นมืออาชีพ ซึ่งนักศึกษาหมายถึง ผู้ที่เรียนในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา หรือสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ขึ้นไป เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย มีทักษะหลากหลาย มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และอยู่ร่วมกันเป็นสังคมฐานความรู้ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ผู้จบปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน
  • เน้นขยายโอกาสทางการศึกษา ๔ ด้าน ดังนี้

๑) โอกาสเข้าถึงทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม เนื่องจากความเป็นเลิศมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมือง แต่นักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในชนบท มีฐานะยากจน จึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม ได้แก่

- โครงการ One Tablet per Child โดยจะจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับรัฐบาลจีนในเรื่อง G2G เพื่อนำหลักสูตรมาใส่ในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสัญญาณ Wi-Fi ได้ โดยจะหารือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเรื่องการปล่อยสัญญาณ Wi-Fi และการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนในวัยนี้ รวมทั้งจะต้องรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนผู้ใช้ด้วย เพื่อเป็นการเปิดโอกาส ก่อให้เกิดเสรีภาพทางความคิด และมีมุมมองที่กว้างขึ้น

- ห้องการเรียนรู้ โดยมีครูมาเปิดสอนพิเศษแก่นักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าจ้าง มีการติดตั้งซอฟต์แวร์การศึกษา ไม่ว่าจะเป็น e-Book e-Learning เพื่อสร้าง Knowledge Base Society

- โครงการ e-Education เพื่อพัฒนาโปรแกรมและเนื้อหา ที่จะพลิกโฉมโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้ระบบการศึกษาที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง

- โครงการโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในฝันสู่อุดมศึกษาชั้นยอด ให้มีคณะกรรมการโรงเรียน (School Board) ที่สามารถจัดจ้างครูใหญ่และครูที่มีความสามารถเป็นเลิศ จัดบริการขั้นพื้นฐาน มีรถรับ-ส่งนักเรียน จัดให้มีหอพักสำหรับนักเรียนที่บ้านอยู่ไกล

- โครงการพลังครู พัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา แก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ด้วยการอบรมคุณธรรม ทำบัญชีครัวเรือน ปรับโครงสร้างหนี้ นำหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ และเพิ่มรายได้พิเศษให้เพียงพอ และขยายโอกาสใหม่ๆ

- โครงการศูนย์การศึกษานานาชาติ

- โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งพยาบาล เพื่อดูแลเด็กๆ ที่ป่วย และสามารถสอนหนังสือได้ด้วย

- โรงเรียนตัวอย่างในทุกอำเภอ เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนให้เป็นเลิศ โดยใช้การติดต่อสื่อสารด้วยวิทยาการที่ทันสมัย

๒) โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อที่นักเรียนและผู้ปกครองจะได้คลายความกังวลในเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้

- Smart Card เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน

- โครงการเรียนก่อนผ่อนทีหลัง ส่งคืนเมื่อมีรายได้

- ทุนการศึกษาสานฝันนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ (๑ อำเภอ ๑ ทุน) โดยจะต้องปรับเกณฑ์เพื่อให้เกิดการกระจายทุนมากขึ้น

- กองทุนตั้งตัวได้ โดยจะตั้งกองทุนในมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน มีคณะกรรมการคอยกำกับควบคุม ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ ศิษย์เก่า ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ตัวแทนภาครัฐและเอกชน เพราะในมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษามีนักศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีนวัตกรรมที่ทันสมัยมากมาย การเป็นนักธุรกิจที่มีฐานความรู้จึงมีความได้เปรียบกว่า สามารถสร้างผู้ประกอบการได้มากกว่า

๓) โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริง การเรียนรู้บนการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning) ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้

- จะส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความสำคัญมากขึ้น มีความรู้ทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และเป็นมืออาชีพ

- ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) มีเป้าหมายให้มีจำนวนเพียงพอต่อการบริการทุกชุมชน เพราะเป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์จากทักษะของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา และสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนในชุมชนได้อีกด้วย

- โครงการอัจฉริยะสร้างได้ เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดของตนเองในทุกๆ สาขา

- โครงการ ๑ ดนตรี ๑ กีฬา ๒ ภาษา สนับสนุนให้เยาวชนได้มีความสามารถในการแข่งขันความเป็นเลิศ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ การเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษและจีนต้องอยู่ในบรรยากาศของเจ้าของภาษาให้มากที่สุด ส่วนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะต้องสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง

- ปรับปรุงหลักสูตร ยกเลิกการท่องจำ และใช้หลักการเรียนรู้แทน โดยใช้เนื้อหาวิชาที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้เหมือนกัน เช่น Video Link รวมถึงการวัดผลที่มีมาตรฐานและทันสมัย

- คนไทยที่มีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป สามารถเทียบประสบการณ์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้ โดยการเรียนในเวลา หรือนอกเวลา เพื่อให้มีกรอบความคิดที่ก้าวหน้า ทันต่อโลก และทันต่อลูกหลาน

- สถาบันการศึกษาราชภัฏและอาชีวศึกษา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถค้นหาตัวเองได้ว่า เก่งด้านใด ถนัดด้านไหน และจะส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความสำคัญมากขึ้น มีความรู้ทางปฏิบัติอย่างแท้จริง มีความเป็นมืออาชีพ เปิดโอกาสให้ประชาชนไปพัฒนาเพิ่มเติมทักษะด้านต่างๆ ตามที่ต้องการ ตามความถนัด โดยเรียนก่อนผ่อนที่หลัง เมื่อมีงานทำจึงจะผ่อนใช้

- จัดศูนย์ฝึกอบรมในสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้เรื่องที่สนใจ พัฒนาทักษะให้คนไทยเป็นผู้ชำนาญในสาขาต่างๆ ใช้ระบบเรียนก่อนผ่อนทีหลัง

๔) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยใช้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้

- โครงการ Internet ตำบล และ Internet หมู่บ้าน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนค้นหาความถนัดของตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อต่อยอดในสิ่งที่ต้องการทำ รวมทั้งผู้ที่ต้องการเปลี่ยนวิชาชีพด้วย

- สถานที่รวมกลุ่มอย่างสร้างสรรค์แก่เด็กนักเรียน โดยมีคอมพิวเตอร์สัญญาณ Wi-Fi ให้ใช้ รวมทั้งมีครูมาสอนการบ้าน

คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงประเด็นคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตและการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ในรายการ "จับเงินชนทอง" ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๕




ศธ.จะจัดซื้อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต จำนวน ๙๐๐,๐๐๐ เครื่อง ในวงเงิน ๓,๐๐๐ ล้านบาท ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ (ป.๑) ที่มีอยู่จำนวน ๘๖๐,๐๐๐ คน ให้ทันใช้ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ โดยจะยกให้เด็กเลย ไม่ได้ให้ยืม สำหรับคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตจำนวนที่เหลือ จะนำไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้น ป.๒-๖ เนื่องจาก ศธ.มีงบประมาณจำกัด จึงจัดให้เฉพาะนักเรียนชั้น ป.๑ ก่อน แต่หากได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก ก็จะจัดเพิ่มให้ทุกชั้นเรียนถึงชั้น ป.๖ โดยจะนำงบประมาณตรงส่วนอื่นๆ มาใช้ เช่น ตัดงบประมาณการประชาสัมพันธ์การจัดงานแสดงต่างๆ ของ ศธ.


สำหรับกรณีที่เด็กจะนำคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตไปใช้เล่นเกมส์นั้น รมว.ศธ.กล่าวว่า การเล่นเกมส์ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ยังมีประโยชน์ในการช่วยฝึกความคิด ฝึกสมอง ซึ่งผู้ใหญ่เองก็เล่นเกมส์ แต่จะบอกว่าเด็กเล่นเกมส์ไม่ดีคงไม่ได้ เป็นการครอบความคิดเด็กเกินไป รมว.ศธ.ต้องการให้เด็กมีสิทธิ์ เสรีภาพทางความคิด มีจินตนาการที่ก้าวหน้ากว่าผู้ใหญ่ มิฉะนั้นประเทศก็จะไม่พัฒนา การเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ลูก เพราะพ่อแม่มีหน้าที่รับผิดชอบอนาคตของลูก และโดยส่วนใหญ่ผู้ที่ดูเว็บไซต์ไม่เหมาะสมจะเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ส่วนการดูแลรักษาเครื่อง ศธ.ได้จัดให้มีศูนย์ซ่อมแซม ถ้าเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ ก็จะให้เครื่องใหม่ แต่เชื่อว่าการให้เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตกับเด็กโดยไม่ต้องยืม พ่อแม่และเด็กอาจจะหาวิธีดูแลรักษาที่ดีก็ได้ อย่างไรก็ตามเครื่องอาจจะมีปัญหาบ้าง เพราะซื้อในราคาถูก ในปีนี้ จึงขอทดลองใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตกับนักเรียนชั้น ป.๑ ก่อน ซึ่งในปีต่อไปจะวางแผนงบประมาณในส่วนนี้ไว้


การจัดซื้อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตระบบ G2G นั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ โดย รมว.ศธ.ได้ขอให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ไม่ใช่เป็นแค่ e-Book เพื่อให้นักเรียนสามารถตรวจสอบได้ว่า ครูสอนถูกต้องหรือไม่ และสามารถเรียนได้ทั้งแบบแนวขนานและแนวตั้ง (เรียนล่วงหน้า) ได้ สำหรับเหตุผลที่จะต้องการจัดซื้อแบบ G2G นั้น ก็เพื่อป้องกันการคอรัปชัน ซึ่งตนได้ประกาศไว้ในวันรับตำแหน่งวันแรกแล้วว่า ต้องการให้ ศธ.ปราศจากการคอรัปชัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็จะทำให้การคอรัปชันเหลือน้อยที่สุด ส่วนเรื่องของหลักสูตร ดร.โอฬาร ไชยประวัติ จะเป็นประธานในการจัดทำหลักสูตร

ที่มา: http://www.moe.go.th/websm/2012/jan/033.html